ร้านนมแม่ - นมแม่เซ็นเตอร์
1/6 ซอยร่มเกล้า 11/1 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510
โทร. 02-915-2277, 02-184-8164

เครื่องปั๊มหรือลูกดูด แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่ากัน คำพูดที่แม่มือใหม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มักจะได้ยิน คือ ต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้า หรือลูกดูดได้เกลี้ยงเต้ากว่าใช้เครื่องปั๊ม ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิด ตัวอย่างของความเข้าใจผิดก็คือ มักมีคำถามว่าปั๊มนมเสร็จแล้ว แต่ไม่เกลี้ยงเต้า บีบด้วยมือก็ยังออกมาอีก ทำยังไงถึงจะเกลี้ยงเต้า สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน คือ คำว่า "เกลี้ยงเต้า" จนไม่มีน้ำนมเหลือในเต้านั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแม่เลิกให้นม หรือเลิกปั๊มนมแล้ว เต้านมจะหยุดผลิตน้ำนมหรือที่เรียกว่า นมแห้ง นั่นเอง ถ้าให้ลูกดูดหรือปั๊มนมอยู่เรื่อยๆนั้น จะไม่มีทาง "เกลี้ยงเต้า" จริงๆ ได้เลยร่างกายเราจะผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา และจะถูกเก็บไว้ในเต้านมเมื่อพื้นที่เก็บเต็ม จะเกิดอาการคัดเพราะน้ำนมที่ผลิตใหม่ไม่มีที่จะเก็บ คุณแม่ต้องระบายน้ำนมออกโดยการให้ลูกดูด หรือปั๊มออกเพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่ นอกจากนี้ร่างกายจะผลิตน้ำนมตามความต้องการของน้ำนมที่ระบายออก (ทั้งลูกดูด/ปั๊มด้วยเครื่อง/บีบด้วยมือ) ยิ่งระบายออกมาก ยิ่งผลิตมาก ถ้าระบายออกน้อย จะผลิตน้อย แต่ถ้าปล่อยให้เต้าเต็มบ่อยๆจะเป็นการส่งสัญญาณว่าความต้องการน้ำนมลดลง เวลาที่เราพูดคำว่า "เกลี้ยงเต้า" นั้น แท้จริงแล้วหมายถึง การระบายจนน้ำนมส่วนใหญ่ออกจากเต้าเกือบหมด (70-80%) เท่านั้นเองไม่ใช่เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ลองคิดถึงการบ้วนน้ำลายดู เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบ้วนน้ำลายจนเกลี้ยงปาก เพราะน้ำลายจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน สำหรับคำถามที่ว่าการให้ลูกดูดหรือเครื่องปั๊ม แบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่ากัน เรื่องนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดได้มากทีเดียว เพราะการที่จะบอกว่าลูกดูด หรือเครื่องปั๊มแบบไหนเกลี้ยงเต้ากว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ถ้าในเต้านมมีน้ำนมพอๆ กับที่ลูกต้องการกิน ลูกจะดูดได้มากกว่าเครื่องปั๊ม เพราะน้ำนมที่เหลือน้อยๆ ลึกๆ ลูกจะดูดออกได้ดีกว่า แต่ถ้าในเต้านมมีน้ำนมมากกว่าที่ลูกต้องการ การปั๊มนมจะปั๊มออกมาได้มากกว่าลูกดูด เพราะลูกจะดูดน้ำนมเท่าที่เขาต้องการเท่านั้นเมื่ออิ่มแล้วก็จะหยุดดูด แม้ว่าเขาจะยังอมหัวนมแม่อยู่ แต่ลักษณะการดูดจะเปลี่ยนไป คือดูดเล่น ไม่ได้ดูดกิน จึงยังมีนมเหลือค้างอยู่ในเต้า ซึ่งนมส่วนที่เหลือนี้สามารถใช้เครื่องปั๊มหรือมือบีบออกมาทำสต็อคน้ำนมได้ เปรียบเทียบการระบายน้ำนมออกจากเต้า นี่จึงก็เป็นคำอธิบายว่า ทำไมแม่ที่ปั๊มนมบ่อยๆ จึงสามารถมีน้ำนมเหลือเฟือไว้ทำสต็อคได้ เพราะเราใช้เครื่องปั๊มนมหลอกร่างกาย ว่ามีความต้องการน้ำนมมากๆ ถ้าให้ลูกดูดอย่างเดียวโดยไม่ปั๊ม น้ำนมจะผลิตออกมาน้อยกว่า (เต้าเต็ม ผลิตช้า/ผลิตน้อย เต้าว่าง ผลิตเร็ว/ผลิตเยอะ) แต่การที่ให้ลูกดูดอย่างเดียวโดยไม่บีบหรือปั๊มเลยก็ไม่ได้หมายความว่าแม่จะมีนมไม่เพียงพอนะคะ คุณแม่จะมีน้ำนมพอสำหรับลูก แต่จะไม่มีเหลือเก็บเท่านั้น คุณแม่ที่กังวลว่าลูกไม่ดูดเต้าเลย จะเลี้ยงนมแม่ได้นานแค่ไหนนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลเลยตราบใดที่ไม่ขี้เกียจปั๊ม จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ จริงๆแล้วคนที่ขยันปั๊ม แต่ลูกไม่ดูดผลิตน้ำนมได้มากกว่าคนที่ลูกดูด แต่ขี้เกียจปั๊มเสียอีก ยกตัวอย่างผู้เขียนเอง ทำงานส่วนตัวลูกดูดจากเต้ามากกว่าปั๊ม พอได้ 7-8 เดือน ก็ปั๊มน้อยลงลูกก็เริ่มกินอาหารเสริมมากขึ้น รู้เลยว่าน้ำนมน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านมไม่พอ เพราะลูกผู้เขียนไม่ได้กินนมผสมเลย กลับกันคนที่ปั๊มสม่ำเสมอ บางคนปีนึงแล้วก็ยังปั๊มได้ปริมาณเท่าๆ กับตอนหกเดือน แต่ของผู้เขียน ตอนครบปีปั๊มได้น้อยมากๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลย ไม่ว่าจะให้ลูกดูดเต้า หรือปั๊มให้กิน จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหนก็ได้ตามต้องการ ขอให้สม่ำเสมอกับการปั๊มหรือลูกดูดเท่านั้นเอง สำหรับคนที่ปั๊มนมเป็นประจำแล้วตอบสนองกับเครื่องได้ดี คือกลไกการหลั่งน้ำนมทำงานทุกครั้ง จี๊ดไป 2-3 รอบแล้ว เต้านิ่มแล้วจะต้องบีบด้วยมือต่อให้เกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะเกลี้ยงได้ หรือไม่นั้นขอบอกว่าไม่จำเป็น ทำหรือไม่ทำก็ได้สิ่งที่ควรทำคือ ปั๊มบ่อยๆอย่าทิ้งช่วงนานมากกว่า ระบายออก 80% ทุก 2-3 ชม. ร่างกายจะผลิตน้ำนมได้มากกว่าระบายออก 95% ทุก 4-5 ชม.
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |